Pakorn's Blog

Helping you to bring your concepts and ideas to life.

สรุป ข้อคิด จากวรรณกรรมเรื่องเงาะป่า


ประวัติความเป็นมาเรื่องเงาะป่า
เงาะป่า เป็นพระราชนิพนธ์บทละครในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีเรื่องเอกของไทยที่จัดเข้าลักษณะวรรณคดี โศกนาฏกรรมแบบตะวันตก ทรงพระราชนิพนธ์ในช่วงที่ทรงพักฟื้นจากการประชวรด้วยพระโรคมาเลเรีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) โดยใช้เวลาทรงนิพนธ์ 8 วันเท่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินพระราชหฤทัยในระหว่างการพักฟื้น จากการประชวร
พระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพทางศิลปะทั้งในด้านวรรณศิลป์ นาฏศิลป์ และคีตศิลป์ ลักษณะคำประพันธ์เป็นบทละครรำ นอกจากนี้ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับ “รูปพวกเงาะโดยสังเขป” (ความรู้เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา นิสัยใจคอ และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเงาะ) เนื้อเรื่องเต็มไปด้วยสาระ มีแนวคิดสำคัญที่เป็นสากลคือ เรื่องของความรัก ซึ่งเป็นความรู้สึกอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมวลมนุษย์ชาติ ทุกภาษาและทุกชนชั้น
“จบ บทประดิษฐ์แกล้ง กล่าวกลอน
เรื่อง หลากเล่นละคร ก็ได้
เงาะ ก็อยเกิดในดอน แดนพัท ลุงแฮ
ป่า เป็นเรือนยากไร้ ย่อมรู้รักเป็น”
การ ที่ทรงเลือก “ความรัก” มาเป็นแนวคิดสำคัญของเรื่องเงาะป่าซึ่งเป็นเรื่องราวของชีวิตของตัวละครที่ เป็นชนกลุ่มน้อยที่ปราศจากความสำคัญและยังป่าเถื่อนในสายตาของคนเมือง แสดงให้เห็นถึงแนวพระราชดำริว่า มนุษย์นั้นมีความเสมอเหมือนกันในด้านอารมณ์และความรู้สึก แม้จะต่างเพศผิวพันธ์จะเจริญหรือล้าหลังก็ตาม

ลักษณะของเรื่องเงาะป่า
เป็นกลอนบทละคร มีลักษณะสัมผัสเช่นเดียวกับกลอนแปด สิ่งที่แตกต่างระหว่างกลอนบทละครกับกลอนแปดคือ
- ตัวละครสำคัญ กลอนบทละครจะขึ้นต้นด้วย “มาจะกล่าวบทไป” หรือ “เมื่อนั้น”
- ตัวละครไม่สำคัญ กลอนจะขึ้นต้นด้วย “บัดนั้น”
บทละคร จะกำหนดเพลงสำหรับขับร้อง มีเพลงหน้าพาทย์ ใช้ประกอบท่ารำหรือกิริยาอาการของตัวละคร เมื่อขึ้นต้นแต่ละวรรคหรือตอนจะมีเครื่องหมาย (ฟองมันหรือตาไก่) กำกับไว้ โดยเหนือฟองมันจะมีชื่อเพลงสำหรับขับร้อง ใต้ตอนจะบอกว่ามีกี่คำกลอน และบางเพลงจะมีหน้าพาทย์กำกับเช่น “ฯ๒ฯ โอด”
ลักษณะคำประพันธ์และภาษา
บท ละครเรื่องเงาะป่า แต่งด้วยกลอนบทละครตลอดทั้งเรื่อง มีบอกเพลงกำกับไว้ ทรงใช้ภาษาอย่างเรียบง่าย มีความไพเราะไม่มีศัพท์สูงๆ ที่เข้าใจยากอย่างวรรณคดีทั่วไป แต่ได้ทรงสอดแทรกคำศัพท์ภาษาก็อย (ซาไก) ไว้โดยตลอด ก่อนถึงเนื้อเรื่องมีบัญชีศัพท์ภาษาก็อยใส่ไว้เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเปิดหา ความหมายของศัพท์เหล่านั้นโดยสะดวก ถึงแม้ผู้อ่านจะไม่ได้ย้อนกลับมาเปิดศัพท์ก็อ่านได้ไม่ยาก เพราะทรงใช้คำศัพท์ภาษาก็อยควบคู่กับภาษาไทย ทำให้เดาความหมายภาษาก็อยได้
คำ ศัพท์ภาษาก็อยเดิมนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเก็บเงาะป่าคนหนึ่งชื่อ”คนัง” ที่ทรงนำไปเลี้ยง ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในคำนำว่า “ส่วนศัพท์ภาษาก็อยไล่เลียงจากอ้ายคนังทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ไล่เลียงขึ้นสำหรับหนังสือนี้ ได้ชำระกันแต่แรกมา เพื่อจะอยากรู้รูปภาษาว่าเป็นอย่างไร แต่คำให้การนั้นได้มากแต่เรื่องนกหนู ต้นหมากรากไม้เพราะมันยังเป็นเด็ก บางทีผู้อ่านจะเหนื่อยหน่ายด้วยคำที่ไม่เข้าใจมีมาก จึงได้จดคำแปลศัพท์ติดไว้ในสมุดเล่มนี้ด้วย”

เนื้อเรื่องย่อบทละครเรื่องเงาะป่า
ซมพลาเป็นเงาะหนุ่มได้รักนางลำหับ ซึ่งซมพลามีบุญคุณกับลำหับในการช่วยชีวิตตอนที่ไปเที่ยวป่าและโดนงูรัดเลย เกิดรักกัน ตามความเชื่อที่ว่าชายใดแตะเนื้อต้องตัว หญิงถือว่าเป็นสามีของหญิงนั้น แต่ฮเนามาสู่ขอนางลำหับกับตองยิบและนางฮอย ซึ่งเป็นบิดามารดาของลำหับ ทั้งสองตกลงใจให้นางลำหับแต่งงานกับฮเนา ซึ่งมีความเหมาะสมในฐานะ และได้จัดพิธีแต่งงานให้ พวกเงาะมาช่วยงานกันทั้งหมู่บ้าน เมื่อนางลำหับกับฮเนาแต่งงานกัน จะต้องไปเดินป่าตามประเพณี 7 วัน ซมพลาได้ทำอุบายไปลักพาตัวนางลำหับหนีมาอยู่กับตนที่ในถ้ำ ฮเนานึกว่าซมพลาบังคับเอาตัวนางลำหับไปจึงออกติดตามจนพบ ซมพลากับฮเนาได้ต่อสู้กัน รำแก้วซึ่งเป็นพี่ชายของฮเนาได้ใช้ลูกดอกอาบยาพิษเป่าไปถูกซมพลาได้รับบาด เจ็บ นางลำหับไม่เห็นซมพลากลับมา จึงออกไปตามพบซมพลาถูกลูกดอกอาบยาพิษถึงแก่ความตายไปต่อหน้าต่อหน้า ก็เสียใจ นางลำหับรักซมพลามากจึงได้ใช้มีดฆ่าตัวเองตายตามซมพลา ส่วนฮเนาเมื่อได้รู้ว่านางลำหับกับซมพลารักกันและได้เห็นความรักอันเด็ด เดี่ยวของซมพลากับลำหับ และคิดว่าตนเป็นต้นเหตุให้ทั้งสองตาย จึงฆ่าตัวตายตามไปด้วย

วิเคราะห์ภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของเรื่องเงาะป่า
โครง เรื่องเงาะป่ามีทั้งโครงเรื่องใหญ่ คือความรักสามเส้าของซมพลา ลำหับและฮเนา โครงเรื่องรองที่สนับสนุนโครงเรื่องใหญ่ให้เด่นชัดคือ ความรักสามเส้าของตาวางซอง นางถิ่งและตาจาลอง
เงาะป่าเป็นวรรณคดีที่มี ลักษณะผสมผสานกันระหว่างบันเทิงคดี โบราณและปัจจุบัน คือเป็นเรื่องของชนกลุ่มน้อยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสน พระราชหฤทัย จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละคร ซึ่งเรื่องของสามัญชนที่ด้อยความสำคัญในสังคมมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 คือเรื่องระเด่นลันได ของพระยามหามนตรี (ทรัพย์) เป็นเรื่องรักสามเส้าของแขกขอทาน แขกเลี้ยงวัวและภรรยา แต่เนื้อหาผู้แต่งมีจุดประสงค์ล้อเลียนเสียดสีบทละครเรื่องอิเหนา หรือบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง”ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์ โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องมาจากปัญญาสชาดก ได้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของคนในสังคมไทยที่มีต่อมนุษย์เผ่านี้อย่างชัดเจน “เกราะรูปทานพที่ถูกขยายความว่าเป็นเกราะรูปเงาะ ปฏิกิริยาที่ท้าวสามนต์นางสนม นางกำนัล หรือแม้แต่เด็ก ๆ ชาวบ้านมีต่อพระสังข์ในคราบเงาะป่า ได้แสดงความเยาะเย้ยถากถาง” แต่เรื่องเงาะป่ามีจุดประสงค์ที่จะแสดงวิถีชีวิตของพวกเงาะอย่างสมจริง ในด้านความเป็นอยู่ การแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ภาษาพูด การแต่งกายตลอดจนลักษณะทางกายภาพและอุปนิสัยใจคอ ฯลฯ โดยปราศจากเรื่องของเวทมนต์คาถาประเภทเหาะเหินเดินอากาศซึ่งเป็นสิ่งที่ เหนือจริงและเป็นเรื่องไกลตัว
เนื้อเรื่องเงาะป่าบางตอนคล้ายคลึงกับบท ละครเรื่องอิเหนา เช่น รักสามเส้าของ ซมพลา ลำหับ ฮเนา กับรักสามเส้าของอิเหนา บุษบา และจรกา อิเหนารู้สึกตนว่ารักและปรารถนาบุษบาเมื่อท้าวดาหาได้ยกนางให้จรกา เช่นเดียวกับเงาะป่าซมพลาแอบรักลำหับ แต่ปล่อยให้เวลาล่วงเลย มาคิดแย่งชิงเมื่อพ่อแม่นางยกให้ฮเนา เรื่องอิเหนามีสียะตราอนุชาบุษาเป็นพ่อสื่อ เรื่องเงาะป่ามีไม้ไผ่น้องลำหับเป็นพ่อสื่อให้ซมพลา มีการวางแผนหาสถานที่คือถ้ำเป็นที่หลบซ่อน ต่างกันตรงที่อิเหนาได้กลับมาหานางบุษบามีความสุขตอนจบ แต่ซมพลาต้องจากลำหับตลอดชีวิต
เห็นได้ว่าเรื่องเงาะป่า เรื่องของความรักครอบคลุมเนื้อหาทั้งเรื่อง เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นมีความรักเป็นเหตุ ปัญหารักสามเส้ามีการย้ำเน้นเป็นพิเศษ คือความรักระหว่างตัวละครเอกทั้งสามคน คือ ซมพลา ลำหับ และฮเนา และตัวละครประกอบของเรื่องก็มีปัญหารักสามเส้าคือ ความรักระหว่างตาวางซอง นางถิ่ง และตาจาลอง ความรักของผู้เฒ่าช่วยเสริมให้บทบาทและพฤติกรรมของตัวละครเอกเด่นชัดขึ้น เพราะความรักของหนุ่มสาวน่าเห็นใจ ดูงดงามสมเหตุสมผล เพราะซมพลายึดมั่นในความรักที่มีต่อลำหับและปรารถนาในตัวนางลำหับแต่มิได้ หักหาญน้ำใจถ้านางลำหับไม่รักตน แต่หลังจากที่ได้ตกเป็นหนี้บุญคุณซมพลาที่ช่วยชีวิตไว้ และได้ถูกซมพลาถูกเนื้อต้องตัวเท่ากับตกเป็นสมบัติของซมพลาทำให้นางต้องจง รักภักดีต่อซมพลา ส่วนฮเนามีสิทธิ์ยืนยันความรักต่อลำหับเพราะเป็นความรักที่ถูกต้องตาม ประเพณี ทั้งซมพลา ลำหับและฮเนายังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ความร้อนแรงทางอารมณ์จึงค่อนข้างเข้มข้น เมื่อตกเป็นทาสความรัก แต่เมื่อพิจารณาความรักของผู้เฒ่าทั้งสามคน ก็น่าสังเวช ขบขัน และน่าตำหนิ เพราะความรักเกิดจากความเขลา กิเลสตัณหาเป็นสำคัญ ด้วยวัยวุฒิทั้งสามคนน่าจะมีสติยั้งคิด เรื่องอื้อฉาวผิดศิลธรรมเกิดขึ้นเพราะความไม่ซื่อสัตย์ของนางถิ่งคนกลาง นางคบชู้กับตาวางซองเพราะสามีคือตาจองลองจากนางไปค้าขายนานสี่ปี เมื่อสามีกลับมาเกิดหึงหวงกันจึงท้าต่อสู้กัน ซมพลามาเห็นเหตุการณ์ ไต่ถามได้ความจึงเปรียบเทียบความรักสามเส้าของผู้เฒ่ากับความรักสามเส้าของ ตน แต่ต่างกันตรงที่ นางลำหับคนกลางเป็นคนซื่อสัตย์ กตัญญู ในขณะที่นางถิ่งมีแต่ความเลวร้าย ดังบทกลอนต่อไปนี (รักสามเส้า)
“ เมื่อนั้น ซมพลาฟังคำร่ำขยาย
ให้นึกขันกลั้นหัวตากับยาย มาเคราะห์ร้ายชิงชู้คู่กับเรา
เสียวจิตคิดถึงเรื่องของตัว แม้นเจ้าผัวเซ่อซ่ามาพบเข้า
เรามิต้องต่อยกันกับฮเนา แต่ผิดเค้ากันอยู่นิดที่จิตนาง
คิดพลางทางพูดไกล่เกลี่ย ข้าจะขอเสียทีทั้งสองข้าง
จะรักใคร่ไปทำไมกันคนกลาง เป็นเยี่ยงอย่างสตรีที่ชั่วร้าย
อันความอายขายหน้ามาต่อรบ ก็พอลบอัปยศให้หมดหาย
จงคืนทับดับใจให้สบาย อย่าวุ่นวายตาทั้งสองจงตรองความ”
ซม พลาไกล่เกลี่ยให้ผู้เฒ่าเลิกสู้กันเพราะนางถิ่งไม่มีค่าพอที่แลกชีวิตเพื่อ ชิงนาง แต่ต่อมาเมื่อเหตุการณ์เดียวกันเกิดขึ้นกับซมพลาเมื่อเผชิญหน้ากับฮเนากลับ สู้ไม่คิดชีวิตเพราะนางลำหับมีค่าแก่การช่วงชิง
นอกจากความรักระหว่าง หนุ่มสาวแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความรักระหว่างเพื่อน ความรักระหว่างบิดามารดาและบุตร ความรักระหว่างพี่น้อง เมื่อใดสมหวังในความรักก็จะมีความสุข เมื่อใดความรักไม่สมหวังก็เกิดทุกข์ และมีความเชื่อในเรื่องบุญกรรม รำแก้ว ปองสองและปองสุดซึ่งเป็นพี่ชายน้องชายของฮเนาคร่ำครวญตัดพ้อความรัก เมื่อเห็นศพของทั้งสามคน ดังบทกลอนต่อไปนี้
“ดูดุ๊ความรักนักหนาหนอ มาลวงล่อโลมพาคนอาสัญ
ถึงสามศพสยบเรียงเคียงกัน ล้วนทาสรักทั้งนั้นอนาถใจ
แสนสงสารลำหับสาวน้อย บุญใดที่คอยส่งให้
งามโฉมประโลมโลกเลิศวิไล ผูกจิตชายได้ดังคาวี
กรรมใดบันดาลสังหารเจ้า ให้พลอยกลืนรักเข้าไปเป็นผี
โอ้ซมพลาน่าชมฝีมือดี น้ำใจดีกล้าหาญทานทน
ควรฤาเราสามตามสังหาร ดังตาโก๊ะทะยานไม่ย่อย่น
ตรงต่อรักหักไม่เห็นแก่ตน ควรนับว่าเป็นคนข้าความรัก
อนิจจาฮเนาเจ้าเพื่อเข็ญ ได้ขุ่นข้องลำเค็ญเพราะรักหนัก
ช่างอาภัพลับหลงจงจิตนัก ไม่มีส่วนสุขสักหน่อยหนึ่งเลย
อนิจจารักกระไรใจจืดเหลือ ไม่เผื่อแผ่ผลาญชีพเล่นเฉยเฉย
จงรู้ฤทธิ์รักร้ายอย่าหมายเชย ศพจะเกยก่ายกลาดอนาจใจ
ภูมิปัญญา ที่แสดงถึงความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม เป็นกุลสตรี มีความรักเดียวใจเดียว มั่นคงในความรัก ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อผู้เป็นสามี ความมีจิตใจเด็ดเดี่ยว โดยการฆ่าตัวตายก่อนซมพลา เพื่อให้ซมพลาตายตาหลับโดยไม่ต้องห่วงนาง และมีความเชื่อในการเกิดในภพหน้า
“ โอ้ว่าซมพลาของเมียเอ๋ย ไฉนเลยมาสั่งดังนี้ได้
พ่อเดาจิตเมียผิดเป็นพ้นไป ด้วยนึกว่าเป็นนิสัยนารี
คงกลัวตายหมายแต่จะหาสุข ถึงยามทุกข์เข้าสักหน่อยก็ถอยหนี
อันฝูงหญิงจริงอยู่ย่อมมากมี แต่ใจของน้องนี้ไม่เหมือนกัน
พ่อตายฤาจะหมายมีผัวใหม่ ให้กินใจกันเป็นนิจคิดหวาดหวั่น
ว่าเคยสองคงปองสามไม่ข้ามวัน รสรักนั้นคงจะจางด้วยหมางใจ
รักของน้องปอองแต่ให้แท้เที่ยง ไม่หลีกเลี่ยงให้เข็ดขามตามวิสัย
จะให้พ่อวายชนม์พ้นห่วงใย เมื่อเกิดไหนจะได้พบประสบกัน
ภูมิปัญญา ที่แสดงถึงความเคารพในกติกาและความถูกต้อง ให้เกียรติผู้หญิงโดยไม่ใช้กำลังข่มเหงโดยถามถึงความสมัครใจ เพื่อมิให้ได้ชื่อว่าเป็นชายแต่ข่มเหงน้ำใจหญิง ดังกลอนบทต่อไปนี้
“ ความรักน้องใช่จะปองแต่สังวาส จะตามใจนุชนาฎคิดไฉน
แม้นมิอยู่คูหาจะกลับไป พี่ก็ไม่สิ้นสวาทวนิดา
และแสดงถึงการเคารพในกติกา และความถูกต้อง เมื่อนางลำหับตัดพ้อว่าทำไมไม่ไปสูขอตั้งแต่แรก ซมพลาชี้แจงเหตุผลอย่างน่าฟังว่า เช่น
“ อันจะสู่ขอต่อบิดา ไม่มีท่าที่จะได้สมคิด
ข้างฮเนาเขามาว่าไว้ก่อน บิดาหย่อนย่อมให้เขาเป็นสิทธิ์
คงจะไม่ได้เชยชมชิด จำจิตจึงต้องทำดังนี้”
ภูมิปัญญา แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตามสภาพธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ในป่า ซึ่งเป็นที่รวมแห่งชีวิตทั้งยามทุกข์ยามสุขเป็นที่เกิด ที่อยู่ ที่ทำมาหากิน ที่เที่ยวเล่น ที่พลอดรัก ที่ประกอบพิธีต่างๆ ทั้งยังเป็นที่มาของขนบธรรมเนียม ค่านิยม ปรัชญาและความเชื่อ แม้กระทั่งเป็นที่ฝังร่างอันไร้วิญญาณ ชีวิตของพวกเงาะจึงวนเวียนอยู่ในป่าอย่างครบวงจร ด้วยสภาพธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ได้หล่อหลอมให้สังคมเป็นสังคมที่เรียบง่ายงดงาม ไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนแลดูหยาบกระด้าง ผู้คนมีจิตใจอ่อนโยน มีความสุขตามอัตภาพ ดังตัวอย่างฉากชีวิตตอนที่เงาะน้อยไม้ไผ่และคนังเล่นน้ำ ทรงพรรณนาไว้อย่างเห็นภาพ ดังนี้
“ จับตะพดมะพร้าววักตักวารี รดทั่วอินทรีย์อาบสนาน
นั่งชุ่มแช่เย็นฉ่ำสำราญ น้ำเป็นเกลียวเชี่ยวฉานทานกายรับ
เห็นฝูงปลามาเป็นพรวนทวนกระแส สองแงะแบบมือจ้องเที่ยวมองจับ
เหยียบศิลากลิ้งกลมลื่นล้มพับ ลงนอนทับกันงอนหง่อหัวร่อริก
โก้งโค้งมองจ้องมือจะช้อนใหม่ กลัวปลาตกใจไม่กระดิก
พอได้ทีฉวยผับปลากลับพลิก ดิ้นดิ๊กกิ๊กโยนไปไว้กลางทราย
ปูน้อยน้อยวิ่งร่อยตามริมหาด ทั้งสองมาดหมายตะครุบปุบเปิดหาย
คอยปากรูปูไม่ทันจะซ่อนกาย จับได้หลายตัวชักหักก้ามไว้
จนเหนื่อยอ่อนร้อนอีกลงนอนขวาง ที่ในกลางสายชลล้นหลั่งไหล
แล้วชวนกันชำระสระเหงื่อไคล เร่งผ่องใสแสนสำราญบานกมล”
และ ตอนที่นางลำหับชมธรรมชาติซึ่งนอกจากสะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับธรรมชาติแล้ว ยังได้รู้ถึงลักษณะพืชพันธ์ชนิดต่าง ๆ และมีจิตสำนึกในการรักษาธรรมชาติไว้คู่กับป่า
“ ยามเช้า อุระเราชื่นแช่มแจ่มใส
สู้บุกป่ามาดมชมดอกไม้ ข้าขอบใจมาลีที่เบิกบาน
ล้วนอารีมิให้เรามาเก้อ เผยเผยอกลีบประทิ่นกลิ่นหอมหวาน
สายหยุดดกย้อยห้อยพวงยาน กลิ่นซาบซ่านนาสาดอกน่าเชย
มะลิวัลย์พันกอพฤกษาดาด เหมือนผ้าลาดขาวลออหนอน้องเอ๋ย
รสสุคนธ์ขึ้นเป็นดงอย่าหลงเลย กำลังเผยเกสรสลอนชู
โน่นแน่อุ๊ยสารภีไม่มีใบ เหมือนต้นไม้ทอดตั้งอยู่ทั้งคู่
แมลงล้อมตอมว่อนเสียงหวี่วู ไม่มีผู้ช่วยสอยน้อยใจเอย”
ภูมิปัญญา ที่สะท้อนให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลจากธรรมชาติ และคนสังคมเมืองสามารถนำมาเป็นแนวทางในการปรับใช้ในสังคมได้ จากการที่มีชีวิตอยู่ใกล้กับธรรมชาติ ปรัชญาหรือทรรศนะในการดำรงชีวิตสะท้อนให้เห็นได้ว่าได้รับอิทธิพลมาจาก ธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ไม่ได้ลึกซึ้งแต่ใช้การได้ดี แม้แต่คนเมืองก็อาจนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้ เช่น ตอนนางลำหับไปนั่งเล่นที่น้ำตกหน้าถ้ำ ได้เห็นวิถีชีวิตของปลา แมลง และนกในขณะนั้นนางจึงขับเพลงขึ้นว่า
“ มัจฉา ช่างฉลาดเสาะหาอาหาร
ไฉนไม่ปรีชากล้าเพียงพอ มาล่อปากปักษาที่ถาลง
สกุณาตาดีฉะนี้แล้ว ยังไม่แคล้วบอเลาเจ้าช่างหลง
อันมนุษย์สุดฉลาดทั้งอาจอง อย่างวยงงให้เหมือนสัตว์บัดสีเอย”
เพลง บทนี้ได้แสดงปรัชญาเกี่ยวกับชีวิตสัตว์โลก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือสัตว์ประเสริฐเยี่ยงมนุษย์ ไว้ได้อย่างน่าคิดว่า สัตว์เดรัจฉานนั้นได้ทุกข์เพราะตกเป็นเหยื่อของผู้ที่เหนือกว่าด้วยความเขลา มนุษย์ที่ได้ชื่อว่าฉลาดจึงไม่ควรตกเป็นเหยื่อของความโมหะคือความลุ่มหลง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สะท้อนในด้านศาสนา และการดำรงตนไม่ให้ตกเป็นทาสของอารมณ์
ภูมิปัญญาแสดงถึงประเพณีการแต่ง งาน การสั่งสอนอบรม การให้โอวาทลูกหลังการแต่งงาน ความเป็นผู้นำ มีความเสียสละ การครองคู่ให้ผู้ชายมีความเข้มแข็งเยี่ยงเสือ ผู้หญิงเป็นผู้อ่อนแอน่าเอ็นดูอย่างนก พ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย สอนให้รักกัน ดูแลห่วงใยซึ่งกันและกัน โดยยกตัวอย่างเสือตัวผู้และเสือตัวเมีย
“ (เงาะยอ) ลูกรัก จงดูเยี่ยงพยัคฆ์โคร่งใหญ่
ถึงร้ายกาจอาจหาญปานใด ก็มิได้ทำร้ายแก่ลูกเมีย
(ตองยิบ) บุญเหลือ จงดูอย่างแม่เสืออย่าอ่อนเอี้ย
รักตัวผู้ดูลูกเฝ้ากกเลีย มีศัตรูสู้เสียชีวิตแทน”
“ (มาเนาะ) ลูกยา จงดูเยี่ยงปักษาในไพรสณฑ์
แสวงเหยื่อเผื่อคู่บินวู่วน พอได้ผลพาร่อนมาป้อนนาง”
(ฮอยเงาะ) ชื่นอก จงดูอย่างนางนกอย่าขนาง
เมื่อยามทุกข์ปลุกใจให้โศกจาง ใช้ปีกหางคู่เคล้าเฝ้าคลอเคลีย”
ตอน แต่งงาน กล่าวถึงพิธีแต่งงานของชาวเงาะว่ามีประเพณี การจัดขบวนแห่ฟ้อนรำ ร่วมแสดงความยินดีโดยมีเครื่องประดับที่สำคัญคือดอกไม้ การอวยพรคู่บ่าวสาวของผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งมีการเปรียบเทียบการใช้ชีวิตร่วมกันของสองคนว่าต้องช่วยเหลือกัน ให้อภัยและอยู่เคียงข้างให้กำลังใจตลอดไป ถือว่าการแต่งงานของพวกเงาะนอกจากจะสร้างความสุขให้คู่บ่าวสาว ความสนุกสนานกับผู้มาร่วมงาน ยังมีการร่ายรำที่สนุกสนาน เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่สดใส เป็นการแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณคือพ่อแม่ที่ยอมแต่ง งานกับคนที่ตนไม่รัก แสดงให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจในการมาร่วมกันช่วยงาน
ภูมิปัญญาที่แสดงภูมิปัญญาการใช้อาวุธ(ล่า สัตว์) ซึ่งถือเป็นการกีฬาประเภทหนึ่งและแสดงถึงความกล้าหาญที่แฝงอยู่ในตัวบุคคลใน การกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างอาจหาญและทำให้เงาะน้อยรุ่น หลัง เกิดความชื่นชมและเชื่อมั่นในความกล้าหาญ เกิดความดีอกดีใจเมื่อเห็นซมพลาฆ่าเสือได้โดยเลียนเสียงธรรมชาติ ดังนี้
“อาเหืออาเหือเสืออ้ายกะโต กลิ้งโค่โล่เพราะซมพลา
หุยฮาหุยถุยแยกเขี้ยว ดีแต่เคี้ยวคูถอ้ายกรา
ฮ่าหาฮ่าหาตาถลน หน้าแยกย่นนิ่งไยรา
ฉะฉิฉาท่าตะกาย เล็บมึงหายคมฤาหวา
โอ้ยโยะโอ๊ยแย่แผ่แดด ไฉนไม่แผดเสียงให้จ้า
เพื่อนเอ๋ยเพื่อนมาช่วยกู โห่ให้ใครรู้ผู้แกล้วกล้า
รูปก็แร่งแรงก็หนัก ให้กอดารักจนเป็นบ้า
โห่ฮิ้วโห่ฮิ้วโห่เห่ ให้สมคะเนอ้ายซมพลา
ภูมิปัญญาแสดงถึงการแต่งกาย ของเจ้าบ่าวเจ้าสาวในการจะไปแต่งงานของฮเนาและลำหับ
“ อาบน้ำชำระสระสาง ล้างละอองธุลีที่ติดต้อง
แล้วนุ่งเลาะเตี๊ยะใยยอง สดแดงแสงส่องเพียงบาดตา
ไว้ไกพ็อกกอเลาะดูเหมาะเหม็ง เชิงนักเลงกลีบตกป้องปกขา
มาลัยฮาปองยาวราวสักวา กระหวัดชายซ้ายขวาเวี่ยวง
คาดมันนิลายนาบอาบสี เป็นนาคีกระหนกวิหคหงส์
จับบอเลาเหลืองอร่ามงามบรรจง อาจองยุรยาตรนาดกราย”
ภูมิปัญญา ที่แสดงถึงความรักความผูกพันอันบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ ของแม่ที่มีต่อลูก การคร่ำครวญในการจากไปของลูก และการหวังพึ่งพาอาศัยตามลักษณะของสังคมไทย การเห็นอกเห็นใจของผู้ได้พบเห็น และสัจจะธรรมที่ประจักษ์ว่าการเลี้ยงลูกด้วยความรักทะนุถนอมและยากลำบาก โดยใช้โวหารเปรียบเทียบกับธรรมชาติที่อยู่รอบตัว
(สามแม่) “โอ้ลูกเราสามราเลี้ยงมายาก
ยามจะพรากเหมือนฟ้าแลบแปลบเดียวหาย
(ทั้งหมด) น่าสงสารสามแม่ล้วนแก่กาย
เลี้ยงลูกคล้ายฝูงนกที่กกฟอง
(สามแม่) ถนอมมากมิให้พรากไปหนไหน
มาเหมือนไข่กระทบแตกแยกเป็นสอง
(ทั้งหมด) สงสารล้ำน้ำตาอาบหน้านอง
เหมือนนางรองธารามาแต่ธาร
(สามแม่) แม่เลี้ยงมาหวังว่าจะฝากร่าง
มาขาดกลางเหมือนต้นไม้ใครประหาร
(ทั้งหมด) สงสารนักความรักมาขาดราน
เหมือนเด็ดก้านบัวสดไม่หมดใย
(สามแม่) โอ้แต่นี้แม่จะมีแต่ร้อนเร่า
เหมือนเพลิงเผาลวกลบต้นไม้ไหม้
(ทั้งหมด) สงสารจริงยิ่งล้นบ่นพิไร
เหมือนเชื้อไฟสุมขอนจะร้อนนาน
(สามแม่) แม่จะเป็นเช่นต้นไม้ตายเพราะลูก
เห็นก็ถูกควรลับดับสังขาร
(ทั้งหมด) สงสารแท้เห็นไม่รอดคงวอดปราณ
เหมือนไฟผลาญไพรพนัสเหลือตัดรอน
ภูมิปัญญา ที่แสดงให้เห็นถึงการแพทย์แผนโบราณ โดยการใช้สมุนไพรให้ทราบถึงคุณและโทษของสมุนไพรและพันธ์ไม้ต่าง ๆ เป็นการถ่ายทอดความรู้นอกห้องเรียนด้วยการปฏิบัติจริงจากรุ่นสู่รุ่น
“ว่าพลางทางแก้ตอกนุกออก เอากระบอกมันนินั้นมาตั้ง
เปิดฮอนเล็ดเห็นบิลาลูกกำลัง แล้วก็นั่งชี้แจงให้เข้าใจ
อันบิลานี้ทายางอิโปะ แม้นเป่าโผละถูกเนื้อที่ตรงไหน
เป็นยาพิษโลหิตสูบซ่านไป ไม่มีใครรอดพ้นสักคนเลย

คุณค่าและประโยชน์ที่ได้จากเรื่องเงาะป่า
  1. ความรู้เกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณีของพวกเงาะซา ไก ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ภาษา อาวุธ การแต่งกาย ความเชื่อ ประเพณีแต่งงาน ประเพณีงานศพ เช่นรู้ว่าพวกเงาะไม่มีกฎหมาย ไม่มีสถานที่ฟ้องร้องและตัดสินคดี เมื่อเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทก็ใช้วิธีตัดสินโดยการต่อสู้กันตัวต่อตัวคล้าย กับการดวล (duel) กันเช่นเดียวกับทางตะวันตก พวกเงาะนับถือผี วิญญาณ เจ้าป่า และรุกขเทวดา เชื่อถือเครื่องรางของขลัง เมื่อตายไปเชื่อว่าจะต้องรับฝังศพเพื่อมิให้เป็นเหยื่อสัตว์ร้าย และต้องย้ายทัพหนีวิญญาณของผู้ตาย ในการสู่ขอแต่งงานฝ่ายชายต้องนำผ้าคู่หนึ่งมาให้แก่พ่อแม่ฝ่ายหญิง หลังพิธีแต่งงานมีการให้โอวาทแล้วเลี้ยงฉลอง และฝ่ายหญิงต้องเข้าไปอยู่ในป่าตามลำพังกับเจ้าบ่าว 7 วัน จึงจะกลับมายังทับเพื่อศึกษาซึ่งกันและกันและแสดงให้เห็นว่าเจ้าบ่าวสามารถ ดูแลปกป้องได้
  2. ในสังคมของพวกเงาะนั้นด้อยความเจริญแต่เพียงด้านวัตถุ ส่วนทางด้านจิตใจมีความเจริญมากกว่าคนเมืองด้วยซ้ำไป เพราะพวกเงาะมีความรัก ความซื่อสัตย์สุจริต ความสามัคคีและมีคุณธรรม แม้จะมีความขัดแย้งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดาแต่ในที่สุดก็เข้าใจกันได้
  3. ทราบถึงพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงนำภาษา ก็อย ซึ่งออกเสียงยากมากมาทรงพระราชนิพนธ์ปนไว้ในเรื่องมากมาย ทำให้เกิดบรรยากาศที่สมจริงพร้อมทั้งได้ทรงให้ความหมายไว้ในบทนำด้วยเพื่อ ช่วยให้อ่านได้เข้าใจยิ่งขึ้น

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องเงาะป่า
  1. ความรักของหนุ่มสาวนั้นมีอานุภาพรุนแรงที่สุด อาจบันดาลให้ผู้ที่อยู่ในห้วงรักทำอะไรๆ เพื่อความรักได้ทั้งนั้น บางครั้งก่อให้เกิดโศกนาฏกรรม เช่นในเรื่องเงาะป่า แม้ในปัจจุบันนี้ความตายของหนุ่มสาวที่เกิดจากความรักเป็นเหตุก็ยังคงมีอยู่ เสมอ ๆ
  2. ผู้ใดที่มีความรัก ไม่ว่าจะเป็นความรักประเภทใด ผู้นั้นก็มักจะมีความทุกข์ตามมาด้วยเพราะรักแล้วอาจไม่สมหวัง หรือรักแล้วอาจต้องพลัดพรากกัน (ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ความรักเป็นสั่งที่ดีแต่ควรรักอย่างมีสติ)
  3. ไม่ว่าในสังคมใด แม้จะป่าเถื่อนเช่นสังคมเงาะ ก็ยกย่องผู้หญิงที่ซื่อสัตย์มั่นคงในความรักเหมือนนางลำหับ แม้ตายไปแล้วก็ยังมีผู้สรรเสริญ เป็นสัจธรรมที่แท้จริงคือความดีเท่านั้นที่คงทนจีรังยั่งยืน ชาวเงาะถึงแม้จะมีรูปชั่วตัวดำหรือมีความอัปลักษณ์แต่เป็นคนที่มีจิตใจดีงาม แสดงให้เห็นว่าอย่ามองคนเพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น
  4. เกี่ยวกับประเพณีการแต่งงานแบบคลุมถุงชนว่าบางครั้งก่อให้เกิดความเดือดร้อน และความทุกข์ทรมาน เพราะคู่บ่าวสาวอาจมีคนรักอยู่แล้วเหมือนนางลำหับในเรื่องนี้ ดังนั้นบิดามารดาจึงไม่ควรบังคับ ควรถามความสมัครใจของทั้งคู่ก่อน
  5. ลูกนั้นต้องมีความเคารพรักและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณเช่นนางลำ หับที่ต้องยอมแต่งงานเพราะทดแทนบุญคุณของบิดามารดาทั้งที่ตนไม่เต็มใจ แต่ควรแสดงเหตุผลให้พ่อแม่เข้าใจ และควรไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจทำสิ่งใดลงไป
สรุป
เงาะป่า เป็นชนกลุ่มน้อยคือพวกเงาะป่าซาไก ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับชีวิตเงาะป่า โดยนำลูกเงาะป่าชื่อ “คนัง” มาทรงชุบเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง และเป็นมหาดเล็กคนโปรดของพระองค์ บทละครเรื่อง เงาะป่า แสดงให้เห็นถึงพระราชดำริริเริ่มสร้างสรรค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ในการทรงนำชีวิตของชนกลุ่มน้อยซึ่งไม่อยู่ในสายตาของผู้คนในสังคมเมืองมาทรง พระราชนิพนธ์ ซึ่งไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในวรรณคดีไทย บทละครเรื่องเงาะป่าเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกับพระราชบัญญัติเลิก ทาส จึงน่าจะสะท้อนให้เห็นแนวพระราชนิยมและพระราชดำริอันแสดงจุดยืนที่แน่วแน่ ที่ทรงมีต่อมนุษยชาติไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใดในสังคมใด ทุกชีวิตต่างมีค่าและมีความสำคัญเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดไม่แตกต่างกัน และแสดงให้เห็นว่าความล้าหลังทางวัตถุและรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้เป็นข้อสรุป ถึงความต่ำต้อยทางจิตวิญาณเสมอไป มนุษย์ทุกผู้ทุกนามต่างมีศักดิ์ศรี มีจุดหมายในการดำรงอยู่เพียงแต่จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้มากน้อยเพียงใด
 
Related Posts with Thumbnails