ผู้หญิง มีบทบาททั้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จ และมีบทบาทในการทำลายล้าง ผู้ชาย-ช้างเท้าหน้า ให้ร่วงหล่นจากอำนาจ
วัน ที่ 15 กันยายน 2552 ช้างเท้าหลัง-ผู้ทรงอิทธิพล ทำให้ผู้คนตกตะลึง กับคำให้การต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เมื่อ เธอเปล่งวาจา "ดิฉันชื่อ พจมาน ณ ป้อมเพชร์" เปลี่ยนจากนามสกุล "ชินวัตร" ที่เธอใช้ควบคู่สถานภาพภริยา "พ.ต.ท.ทักษิณ" มาตั้งแต่อายุ 20 ปี
"คุณหญิงพจมาน" ในวัย 53 ตัดขาดจากนามสกุลการเมืองคราวเดียว 2 ตระกูล
เลิกใช้ทั้งนามสกุล "ดามาพงศ์" ของ "ฝ่ายพ่อ" และนามสกุล "ชินวัตร" ของอดีตสามี
แต่กลับไปใช้ "นามสกุล" ของ "ฝ่ายแม่" แห่งตระกูล "ณ ป้อมเพชร์" อย่างมีนัยสำคัญ
เพราะตระกูล ณ ป้อมเพชร์ หรือ na Pombejra นั้นเป็นนามสกุลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทาน
ผู้ รับพระราชทานนามสกุล "ณ ป้อมเพชร์" อันเป็นบรรพบุรุษของบุคคลในสังคมชั้นสูงที่แตกสาขาอยู่ทุกวงการ นั้นมีเทือกเถาเหล่ากอมาจากกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทั้งเคยรับราชการเป็นขุนน้ำขุนนางมา ตั้งแต่ยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถึงสมัยประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทาง หนึ่ง "ณ ป้อมเพชร์" เป็นต้นสาขาชีวิตของคนการเมือง อย่าง "สุรเกียรติ์ เสถียรไทย" ที่ "ฝ่ายแม่" คือ ศ.คุณหญิง เกื้อกูล เสถียรไทย นั้นสืบเชื้อสายมาจากตระกูลเดิม "ณ ป้อมเพชร์"
ทางหนึ่งเป็นต้นสาขา ของครอบครัว "ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์" ผู้หญิงที่มีความกล้าหาญทางการเมือง และเต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตย
ท่านผู้หญิงพูนศุข มีบรรพบุรุษที่มีชื่อเสียงชั้นแรก อย่างพระพิทักษ์เทพธานี หรือ (ด้วง) ซึ่งมีศักดิ์เป็น "ปู่ทวด" ของท่านผู้หญิงพูนศุข
ถัดมาเป็น "เจ้าคุณปู่" ของท่านผู้หญิงพูนศุข คือ พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา หรือ (นาค) เคยดำรงตำแหน่ง "ผู้รักษากรุงเก่า" และเคยมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์การ อภิวัตน์ประเทศไทยในยุคแรก
เพราะ เมื่อครั้ง "พระยาไชยวิชิตฯ" มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางชั้นผู้น้อย ที่หลวงวิเศษสาลี ข้าราชการสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอน ได้เข้าร่วมกับพระบรมวงศ์ 4 พระองค์ และข้าราชการสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอนและประจำ กรุงปารีส 7 ท่าน กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขอให้ทรงสถาปนาระบบราชาธิปไตยจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2428
ในชั้นเจเนอเรชั่นถัดมาของ "ณ ป้อมเพชร์" เป็นชั้นของพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา ซึ่งเป็น "บิดา" ของท่านผู้หญิงพูนศุขนั้น เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก และคนเดียวในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
จากนั้นชีวิตของ "ท่านผู้หญิงพูนศุข" ก็มีคู่ครองเป็นนายกรัฐมนตรี "นักประชาธิปไตย" คือ "ท่านปรีดี พนมยงค์" และเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์สยาม ในฐานะหนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มา สู่ระบอบประชาธิปไตย
หากสืบจากสาย "บิดา" ของท่านผู้หญิงพูนศุข พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา หรือ (ขำ ณ ป้อมเพชร์) สมรสกับ คุณหญิงเพ็ง ณ ป้อมเพชร์ (สกุลเดิม สุวรรณศร) มีบุตรธิดารวม 12 คน คือ
1.นางพิศ อดิศักดิ์อภิรัตน (พิศ บุนนาค)
2.หลวงวิชิตอัคนีนิภา (ขาว ณ ป้อมเพชร์)
3.นายเข็ม ณ ป้อมเพชร์
4.นางสารี ศรีราชบุรุษ (สารี ปุณศรี)
5.ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
6.นางอัมพา ณ ป้อมเพชร์ สุวรรณศร (คุณยายของ ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ ภริยานายกรัฐมนตรี)
7.นางเพียงแข สุรทร-วิจารณ์
8.นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร์
9.นางอุษา สุนวิภาต
10.ด.ญ.เภา ณ ป้อมเพชร์
11.นายอานนท์ ณ ป้อมเพชร์
12.นายชาญชัย ณ ป้อมเพชร์
ใน ยุค พ.ศ.2552 มี "ผู้หญิง" จากตระกูล "ณ ป้อมเพชร์" อีก 1 คน ได้ครอบครองตำแหน่งภริยานายกรัฐมนตรี สตรีหมายเลข 1 ของตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
เพราะนางอัมพา ณ ป้อมเพชร์ ซึ่งเป็น "น้องสาว" ของ "ท่านผู้หญิงพูนศุข" ได้สมรสกับ ศ.ประมูล สุวรรณศร มีธิดา 3 คน คือ ประพาพิมพ์ ศันสนีย์ และ มณีรัตนา สุวรรณศร
โดยบุตรสาวคนโตคือ ประพาพิมพ์ ได้สมรสกับ ศ.(พิเศษ) พงษ์เพ็ญ สกุณตาภัย ซึ่งเป็น "บิดา-มารดา" ของ ผศ.ดร. พิมพ์เพ็ญ ภริยานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27
ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ จึงสืบเชื้อสายโดยตรงมาจากพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์)
ทำเนียบ "ช้างเท้าหลัง" ของนายกรัฐมนตรี จึงมีผู้หญิงจากตระกูล "ณ ป้อมเพชร์" ประดับไว้ในตำนานถึง 3 คน ทั้งท่านผู้หญิงพูนศุข-คุณหญิงพจมาน และ ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ
ที่มา: วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4143 ประชาชาติธุรกิจ หน้า 39 (ผ่าน IndexThai)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น