Pakorn's Blog

Helping you to bring your concepts and ideas to life.

ชนชั้นกลาง

บทความในนิตยสารนิวส์วีค (Newsweek) ฉบับวันที่ 22 มีนาคม 2010 ได้ลงบทความที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งชื่อว่า “How Democracy Dies” หรือแปลตรงตัวว่า “วิธีการตายของประชาธิปไตย” โดย นาย Joshua Kurlantzick ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Council of Foreign Relations มีเนื้อความที่พูดถึงปรากฏการณ์ของ ประเทศทั่วโลก และความเป็นประชาธิปไตย ว่ามีความ “น่าเป็นห่วง”

ทั้งนี้จากมีข้อวิเคราะห์ว่า ประชาธิปไตยในหลายประเทศเกิดการ “ถดถอย” ไม่ว่าจะในแอฟริกา ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และสหภาพโซเวียต ตลอดจนในเอเชียเอง และปัจจัยสำคัญคือ “ชนชั้นกลาง” ที่เคยต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “เสรีภาพ” และ “ประชาธิปไตย” ล้มล้างเผด็จการ กำลังเป็นกลุ่มที่เห็นถึงความยากลำบากในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง และเริ่มผิดหวัง

เหตุผลหลักมาจากการที่ผู้นำของประเทศ ประชาธิปไตยใหม่ๆหลายประเทศ เห็นการเลือกตั้งเป็นทางผ่าน และเมื่อชนะการเลือกตั้งก็ใช้อำนาจที่มีเข้าครอบงำการบริหารประเทศ และแจกผลประโยชน์ให้พวกพ้อง ซึ่งการตีความ “ประชาธิปไตย” ในลักษณะนี้เป็นการ “บิดเบือน” ความหมายที่แท้จริง และทำให้สาธารณชนหมดศรัทธากับระบบ

ในขณะเดียวกัน นาย Joshua ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจยังส่งผลกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยในบางประเทศ เพราะชนชั้นกลางมองว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพมาพร้อมๆกับการเปิดประเทศสู่ โลกาภิวัตน์และทุนนิยมเสรี เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจทำให้รายได้ลดลง ทำให้มีการ “โทษ” ว่าเป็นเพราะ “ประชาธิปไตย” ที่นำมาซึ่งภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

บทความนี้ได้ยกกรณีของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ เวเนซูเอล่า รัสเซีย กัมพูชา แต่ที่ยกมาให้เห็นชัดเจนคือ กรณีของประเทศไทย ซึ่ง นาย Joshua ได้วิพากษ์อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเข้าข่ายที่เข้าสู่อำนาจตามระบบ และดำเนินการนโยบายต่างๆตามที่สัญญาไว้ ช่วยเหลือคนยากคนจน แต่ในที่สุดก็มีปัญหาเรื่องของการใช้อำนาจในทางที่ผิด และกล่าวถึง “การฆ่าตัดตอน” ตลอดจนกรณีการหายตัวของ นายสมชาย นีละไพจิตร

เป็นมุมมองของฝรั่งที่ยังติดใจวิธีการ บริหารของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ในขณะเดียวกันก็อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่ ชนชั้นกลางในเขตเมืองเกิดความผิดหวังและหันไปเรียกร้องให้มีการใช้อำนาจ พิเศษ และการปฏิวัติรัฐประหารแทนที่จะพึ่งพากลไกทางประชาธิปไตยในการนำมาซึ่งความ เปลี่ยนแปลงโดยการสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน หรือผ่านสื่อหนังสือพิมพ์

แถมยังให้เหตุผลว่าการรัฐประหารนั้นเพื่อ “รักษาประชาธิปไตย” ซึ่งในที่สุดชนชั้นกลางและชนชั้นนำก็ได้สิ่งที่ตนต้องการ คือล้มล้าง “ทักษิณ” และทำลายประชาธิปไตยไปด้วย

นาย Joshua ไม่ได้ “ฟันธง” ว่าใครผิดถูก เพียงเป็นข้อสังเกตและข้อวิเคราะห์ในสายตาชาวต่างประเทศ แต่ก็ได้เพิ่มเติมด้วยว่า การที่ชนชั้นกลางทำให้ประชาธิปไตย “ถอยหลัง” โดยการรัฐประหาร และวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ชนชั้นล่างมีความรู้สึกต่อต้านและนำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในโบลิเวียและฟิลิปปินส์ด้วย

สิ่งที่เป็นข้อสังเกตสุดท้าย คือ กระบวนการต่อสู้ดังกล่าวทำให้ระบบและกลไกในการบริหารประเทศ ตลอดจนสิทธิเสรีภาพต้องถูกทำลาย และการที่จะสร้างปัจจัยต่างๆเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลานาน และไม่แน่ว่าจะทำได้เสมอไป

หยิบยกมาเล่าให้ฟัง ด้วยในบางครั้งเราคนไทยทุกคนเหมือนติดอยู่กลางเวทีระหว่างคู่ชกที่เมามันและ ดูท่าจะไม่เลิกราง่ายๆ การที่ได้รับรู้ว่า “คนดู” ที่เขาดูสังเกตวิพากษ์วิเคราะห์อยู่คิดอย่างไร อาจช่วยให้ได้ข้อคิดและตั้งสติเพื่อหาแนวทางในการแก้วิกฤตของชาติได้

สิ่งที่จะต้องยึดมั่นและต้องตกลงกันให้ได้ คือ ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีที่สุดที่จะเปิดให้โอกาสทั้งทางการเมืองและ เศรษฐกิจ ตลอดจนรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน การแก้ปัญหาต่างๆจึงต้องยึดถือแนวทางประชาธิปไตย ที่ผ่านมาให้ถือว่าเป็น “บทเรียน” ที่เจ็บปวด และไม่ควรที่จะเลือกเดินทางเส้น “รัฐประหาร” เพื่อแก้ปัญหาอีก

ที่สำคัญจะต้องมีกลไกที่จะ “แชร์” หรือแบ่งปัน “อำนาจ” เพื่อให้ทุกฝ่ายทุกชนชั้นมีส่วนร่วมและมีความรู้สึกเป็น “เจ้าของประเทศ” โดยผลประโยชน์ต่างๆต้องมีการ “กระจาย” ให้ทั่วถึง ไม่ใช่เป็นการ “กระจุก” อยู่กับกลุ่มคนกลุ่มเดียว ไม่ว่าจะเป็น “ทุนเก่า” หรือ “ทุนใหม่” ก็ตาม และเมื่อมี “ทุน” มี “อำนาจ” แล้ว ใครที่มีต้องใช้อำนาจนั้นอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เพื่อตัวเองและพวกพ้อง ซึ่งหมายถึงการเร่งสร้างความแข็งแรงให้กับองค์กรตรวจสอบในภาครัฐและภาค ประชาชน

จะเป็น “อภิสิทธิ์ชน” หรือ “สามัญชน” ย่อมเป็น “คน” เหมือนกัน ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะหากไม่มองหน้าไม่พูดกัน ไม่เคารพซึ่งกันและกัน ลงเอยก็ตีกันเท่านั้นเอง!!

---
บทความนี้เขียนโดย สุรนันทน์ เวชชาชีวะ (24/3/2553)
จากเว็บไซต์ สยามรัฐออนไลน์
---

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Related Posts with Thumbnails