ทรูเคยเป็นเจ้าตลาดบอร์ดแบนด์ทั้งระดับประเทศและในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร คือมีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุด และในปี 51 ก็ยังคงส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 อยู่โดยปล่อยให้ 3BB และทีโอที เป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 ตามลำดับ แม้ว่าในระดับภูมิภาคจะไม่สามารถสู้กับทีโอที และ 3BB ได้ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ของทรูอยู่ในกรุงเทพมหานครด้วยส่วนแบ่งปัจจุบันประมาณ 75% ในตลาดเมืองหลวง
ปี 2547 ทรูมีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 90% ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพ [อ้างอิง1] ด้วยฐานของเบอร์โทรศัพท์พื้นฐานที่มีมากพอๆ กับทีโอที ในสมัยนั้น
ปี 2548-2549 ทรูมีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากทีโอทีได้เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ และลูกค้าในส่วนภูมิภาคก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในกรุงเทพทรูก็ยังครองส่วนแบ่งทางการตลาดราว 80-85% [อ้างอิง2]
ปี 2550-2551 ทรูที่ทำตลาดหลักเฉพาะในกรุงเทพ ก็มีส่วนแบ่งลดลงเรื่อยๆ จนช่วงไตรมาสที่ 1-2 ของปี 52 มีส่วนแบ่งทางการตลาดในพื้นที่เมืองหลวงลดลงเหลือประมาณ 75% [อ้างอิง3]
* ข้อมูลจากกทช.
ในขณะที่ตลาดบอร์ดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศในปี 2551 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 13 ล้านราย โดยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งทางตลาดมากเป็นอันดับ 1 หรือ 38.43 % บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) 27.92% บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 27.39 % อื่นๆ6.28% ขณะที่ตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ (แนโรแบนด์) ทรูยังมีส่วนแบ่งตลาด 19 % บริษัท เคเอสซี 18 % ซีเอสล๊อกซ์ 4 % อินเทอร์เน็ต ไทยแลนด์ 4 % จัสมิน อินเทอร์เน็ต 2% [อ้างอิง4] - ข้อมูลจาก กทช.
จะเห็นได้ว่าช่วง 1-2 ปีหลัง Maxnet หรือ 3BB ในปัจจุบันสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดมาได้จนขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 2 อย่างฉิวเฉียว จากเดิมที่ทีโอทีนั่งเป็นที่ 2 รองจากทรูมาโดยตลอดและมีทีท่าว่าจะแซงทรูซะด้วยซ้ำในช่วงปลายปี 2550 ถึงต้นปี 2551 ซึ่งช่วงนั้นตลาดบอร์ดแบนด์ในต่างจังหวัดขยายตัวอย่างมาก ในขณะที่ในกรุงเทพยังขยายตัวในระดับปกติ
TRUE
* [อ้างอิง5] - ข้อมูลจากทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ทรูมีลูกค้าล่าสุดราว 632,461 รายในปี 2551 ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อพอร์ตต่อเดือนราว 711 บาทซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 1
จากกราฟจะเห็นว่าทรูสามารถหาลูกค้าใหม่ได้น้อยลงทุกปีๆ
ปี 2547-2548 มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 45%
ปี 2548-2549 มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 32%
ปี 2549-2550 มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 19%
ปี 2550-2551 มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 11%
ปี 2551-2552 คาดว่าทรูจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเพียง 10% จากปีก่อน [อ้างอิง7]
3BB
* [อ้างอิง6] - ข้อมูลจากกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้
ในขณะที่ 3BB มีลูกค้าราว 369,000 รายในปี 2551 ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากทรู (ข้อมูล ณ สิ้นธันวาคมปี 2551)
ปี 2549-2550 มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 35%
ปี 2550-2551 มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 36%
ปี 2551-2552 มีลูกค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 37-39% หรือมากกว่านี้
จะเห็นได้ว่า 3BB มาแรงมากตั้งแต่สมัยที่ยังเป็น Maxnet เมื่อ 2-3 ปีก่อน ในแต่ละปีมีลูกค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 35% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จากผู้ให้บริการที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 3 เมื่อ 2 ปีก่อนขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในปี 2551 โดยในพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถแย่งส่วนแบ่งมาจากทีโอทีได้มากมายจน Market Share ของทีโอทีในต่างจังหวัดลดลงไปประมาณ 10-15% จากเดิมที่ทีโอทีเคยมีประมาณ 35-40% ในปี 2550 ทรูมีประมาณ 40% และ Maxnet ในสมัยนั้นมีเพียง 20-22%
ปัจจุบันในปี 2552 คาดว่า 3BB มีฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขี้นราว 20,000 รายต่อเดือน [อ้างอิง8] และยอดจำนวนลูกค้าล่าสุดหลังไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ 470,000 ราย จนถึงปัจจุบันเดือนกันยายน จึงคาดว่าสิ้นไตรมาส 3 จะมีลูกค้ารวมทั้งสิ้นราว 600,000 ราย ขยายตัวมากกว่า 35% ในขณะที่ทรูคาดว่าจะขยายตัวเพียง 10% ในปีนี้
จุดเปลี่ยนสำคัญ
ในขณะที่ 3BB (Maxnet ในสมัยนั้น) กำลังแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากทีโอทีในพื้นที่ต่างจังหวัด ปลายปี 2551 3BB (Maxnet) ก็เริ่มขยับเข้ามาแย่งพื้นที่ส่วนแบ่งทางการตลาดจากทรูในกรุงเทพมหานครด้วยการออกโปรโมชั่น 2Mbps ราคา 590 บาท ซึ่งถือว่าเป็นรายแรกในประเทศไทย เพราะในขณะนั้นทรูยังขาย 2Mbps ที่ราคา 890 อยู่ ส่วน 590 บาทของทรูจะได้แค่ 1Mbps การเปิดมาตรฐานความเร็วขั้นต่ำใหม่ทำให้ Maxnet ติดตลาดทั่วประเทศโดยไม่ยากนัก เนื่องจากยังไม่มีคู่แข่งในตลาดขณะนั้นที่ให้ความเร็วเท่า Maxnet ทำให้ทางสะดวก Maxnet สามารถโกยลูกค้าใหม่ได้มากมายมหาศาลทั้งในส่วนภูมิภาคและเมืองหลวง มีกระแส Maxnet อยู่ทั่วไปทุกพื้นที่ พร้อมกับการยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ตรายเดิมมาใช้ Maxnet ลูกค้าไหลออกจากทีโอทีและทรูมากมาย หลังจากนั้นหลายเดือนกว่าทรูและทีโอทีจะตั้งหลักได้และเพิ่มความเร็วขั้นต่ำของตัวเองเป็น 2 Mbps ที่ราคา 590 บาท ช่วงนั้นถึงขนาดทำให้อัตราโครงสร้างด้านราคาแต่ละแพ็คเกจของทรูปั่นป่วนไปหมด เพราะมาตรฐานความเร็วใหม่ทำให้ลูกค้าหลายแพ็คเกจที่จ่ายแพงแต่กลับได้ความเร็วที่ต่ำกว่า ส่วนทีโอทีต้องใช้เวลานานกว่าเพื่อนในการปรับตัวจนในสมัยนั้นลูกค้าทีโอทีต่างบ่นกันเป็นเสียงเดียวว่าจ่ายเท่ากันแต่ได้ความเร็วต่ำกว่า Maxnet มาก
และด้วยโฆษณาที่แปลกใหม่ใช้เบเบ๊ขวัญใจวัยรุ่นเป็นพรีเซ็นเตอร์ พร้อมกับเพลงน่ารักๆ ก็โดนใจวัยโจ๋ได้ไม่ยาก ส่วนโฆษณาอินเทอร์เน็ตของทรูมักจะมาในรูปแบบของทางการ ดูมีความน่าเชื่อถือ เน้นกลุ่มวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยทำงานเป็นหลัก โฆษณาเบเบ๊ และโฆษณาที่มีเด็กวัยรุ่นนั่งดูคลิปเกาหลี นั่งแช็ตเว็บแคม จึงดูแปลกใหม่และโดนใจเด็กวัยรุ่นสุดๆ
After Shock ระลอกสอง
ทรูกับทีโอทีเพิ่งหายใจสะดวกหลังจากเจอซึนามิรอบแรกช่วงครึ่งปีหลัง 2551 พอมาต้นปี 2552 เริ่มอยู่ในระยะฟื้นตัว เตรียมสู้รบปรบมือต่อ แต่ยังไม่ทันจะตั้งการ์ดหรือออกอาวุธอะไร Maxnet ไม่รอช้าปล่อยอาฟเตอร์ช็อคลูกที่ 2 มาทันทีด้วยการออกโปรโมชัน 3Mb 590บาท พร้อมกับสโลแกนฆ่าคู่แข่งที่ฮิตติดปากทั่วบ้านทั่วเมืองว่า "วันนี้ต้อง 3Mb เป็นอย่างต่ำ"
ช่วงครึ่งปีแรก Maxnet มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่จนกลายมาเป็น 3BB ในที่สุด และสามารถเป็นผู้ที่ทำให้ตลาดบอร์ดแบนด์สั่นคลอนมาตลอดตั้งแต่ปี 2551-2552 และช่วงครึ่งปีแรก 2552 3BB ก็บุกกรุงเทพอย่างเต็มตัว (ความจริงเริ่มแทรกซึมเข้ามาตั้งแต่ปลายปี 2551) ต่อกรกับยักษ์ใหญ่อย่างทรูที่พญาเสือเจ้าของถ้ำแห่งนี้ พร้อมกับเสือนอนกินอย่างทีโอทีที่มีส่วนแบ่งอยู่กรุงเทพไม่น้อย ด้วยโปรโมชั่นเย้ายวนชาวเน็ต 3Mb ราคา 590บาท ทำให้คนกรุงเทพถึงกับละทิ้ง Brand Royalty ที่มีให้ต่อทรูในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่คนกรุงเทพจะเปรียบทรูเหมือนเป็นพระเอกลิเกสุดหล่อ ส่วนทีโอทีเหมือนตัวโกงในกรุงเทพ แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อการมาถึงของเบเบ๊ พี่ไฟล์และหว่าหว๋า
หลังจากที่สำรวจตลาดจนมั่นใจแล้วว่าจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยรุ่น และการเลือกใช้บริการอินเทอร์เน็ตสักเจ้า ลูกๆ ในบ้านจะเป็นส่วนสำคัญในการเลือกใช้เป็นอย่างมาก 3BB จึงใช้สัญลักษณ์แทนตราสินค้า สร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความจดจำและระลึกในแบรนด์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเลือกใช้พี่ไฟล์และหว่าหว๋า เหมือนกับที่ AIS ก็มีพี่อุ่นใจเป็นสัญลักษณ์
การสร้าง Story ระหว่างพี่ไฟล์กับหว่าหว๋าขึ้นมาทำให้เรื่องราวน่าสนใจและน่าติดตาม ซึ่งรูปแบบละครเป็นอะไรที่น่าสนใจอยู่แล้ว เช่นละครเกาหลี ละครหลังข่าว สังเกตดูได้ว่าโฆษณาหรือมิวสิควีดิโอที่มี Story ส่วนใหญ่มักจะได้รับความสนใจมาก เช่นโฆษณาประกันภัย โฆษณามือถือที่มีคนหลงป่า เป็นต้น
ล่าสุดใช้พี่ช้างเป็นสัญลักษณ์ตัวใหม่แทนความเร็ว 10Mbps แต่ยังคงพี่ไฟล์เป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง เป็นการสร้างการรับรู้ตราสินค้าแบบต่อเนื่อง พร้อมเปิดช่องทางการสื่อสารใหม่กับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องทั้ง Hi5 และ Facebook แม้ว่าช่วงกลางปีจะมีปัญหาขลุกขลักบ้างเรื่องการ Re-branding จาก Maxnet มาเป็น 3BB
นอกจากนั้น 3BB ยังรุกขยายบริการเสริมทั้ง HDTV [อ้างอิง10] และ Spider HotSpot (Wi-Fi) ควบคู่ไปกับบริการอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบนด์
เบื้องหลังคือ Jasmin International
ส่วนนึงที่ 3BB ลงทุนระบบโครงข่ายใหม่และใช้งบในการโฆษณามหาศาลขนาดนี้ เพราะรายได้หลักในปัจจุบันของบริษัทในกลุ่มของ Jasmin มาจากธุรกิจบอร์ดแบนด์อินเทอร์เน็ตหรือ 3BB นั่นเอง โดยกลุ่ม Jasmin มีธุรกิจหลักคือการสื่อสาร บอร์ดแบนด์ และโครงสร้างด้านการสื่อสารต่างๆ มากมาย เพราะฉะนั้น 3BB ไม่ใช่บริษัทบ้านนอกที่หอบผ้าหอบผ่อนมาจากต่างหวัดเฉยๆ ปัจจุบัน 3BB ไม่ใช่ TT&T บริษัทจากต่างจังหวัดอีกต่อไป
สู้อย่างสมศักด์ศรี
แม้จะถูกขนานนามว่าเป็นเสือนอนกิน เสือขี้เกียจ แต่ทรูก็ยังคงเขี้ยวเล็บไว้มากมาย ด้วยที่เป็นบริษัทลูกในเครือ CP และมีธุรกิจมากมายหลายแขนง ในตัวบริษัททรูเองก็มีทั้งมือถือ เคเบิลทีวี โทรศัพท์พื้นฐานและอีกมากมาย
* [อ้างอิง9] - ข้อมูลจากกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้
ทรูสามารถใช้เทคโนโลยีจากบริการใหม่ๆ เพื่อมาเสริมศักยภาพบริการอื่นๆ ของตัวเองได้เต็มที่อย่างเช่น 3G ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ และปี 2552 นี้ทรูก็ไม่ได้เป็นฝ่ายตั้งรับเพียงอย่างเดียวเหมือนปี 2551 ถึงต้นปี 2552 ตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมา ทรูเริ่มขยับตัวและเปิดเกมรุกมาโดยตลอดแม้ว่าในด้าน PR จะยังมีน้อยกว่าคู่แข่งอย่าง 3BB อยู่มาก แต่ก็ถือว่าทรูสู้ได้อย่างสมศักด์ศรีความเป็นผู้นำด้วยระบบโครงข่ายที่มีความพร้อมเพียงพอและยังมีแบนวิดธ์มากเป็นอันดับต้นๆ อยู่ในขณะนี้ทั้งแบนวิดธ์ภายในและภายนอกประเทศ
กลยุทธ์หลักที่ทรูได้ปรับตัวไปแล้วเช่น
1. รุกพื้นที่ต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ๆ มากขึ้น
2. เปิดตัวความเร็ว 8Mbps 10Mbps และ 12Mbps
3. อัพเกรดสปีดให้แต่ละแพ็คเกจได้ไม่ต่ำกว่าคู่แข่ง
4. พยายามชูความเป็น Convergence รวม 3G และ Wi-Fi เข้าไว้ด้วยกัน
5. พยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ให้ได้
ความน่ากลัวของคู่แข่ง
1. คู่แข่งทั้ง 3BB ทีโอทีและ CAT พยายามจะเจาะตลาดลูกค้าระดับบนเช่นเดียวกับทรู โดยเสนอแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีตั้งแต่ 8Mbps 10Mbps และ 12Mbps
2. ทีโอทีปรับโครงสร้างระบบเครือข่ายตามหัวเมืองต่างจังหวัดใหม่ รวมทั้งทยอยลงทุนลากสายเคเบิลและวาง Dslam ตามพื้นที่ชุมชนเฉกเช่นเดียวกับ 3BB เรียกว่าในหลายๆ พื้นที่ตรงไหนมีโหนด 3BB เราก็มักจะเห็นโหนดของทีโอทีปักอยู่ข้างๆ เสมอ
3. การเจาะตลาดเมืองหลวงของ 3BB ซึ่งถือเป็นกล่องดวงใจหลักของทรู โดยพยายามเจาะมาจากบริเวณชานเมืองที่มีหมู่บ้าน และบ้านคนหนาแน่น แต่พื้นที่เหล่านี้กลับไม่มี Dslam ของทรู แต่ 3BB ใช้กลยุทธ์นำเอา Dslam เข้าไปปักใจกลางชุมชนเลย
4. การร่วมมือระหว่าง CAT กับเคเบิลทีวีท้องถิ่น ซึ่งสำเร็จไปแล้วในหลายพื้นที่รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร ภายในอีก 2-3 ปี CAT จะน่ากลัวขึ้นมากถ้าสามารถเจรจากับเคเบิลท้องถิ่นได้แทบทุกจังหวัด นั่นก็หมายความว่า CAT ไม่จำเป็นต้องใช้โครงข่ายสายของตัวเองในการให้บริการอินเทอร์เน็ต เพราะในปัจจุับันก็มีโครงข่ายสายน้อยกว่าเพื่อนอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนสำคัญของ CAT
5. พลังดูดลูกค้าจาก 3BB ด้วยโปรโมชั่นที่ยั่วใจ และบริการ Node Delivery ปักให้ถึงบ้านที่ทรูยังไม่มี
6. สงครามราคาและสงครามโฆษณาจาก 3BB จะกลับมาช่วงต้นปี 2553 เพราะปีหน้านี้ทาง Jasmin หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องทวงบัลลังฆ์แชมป์อันดับ 1 พร้อมฐานลูกค้า 1 ล้านพอร์ตให้ได้ เพราะฉะนั้นปีหน้ามีอะไรก็คงใส่มาหมด ทุ่มหมดหน้าตักแน่ๆ
แรงขับเคลื่อนตลาดบอร์ดแบนด์ไทยในปี 2552
ตลาดบอร์ดแบนด์ปีนี้แข่งกันดุเดือด แต่ละค่ายเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มต่อพอร์ตให้มากขึ้นด้วยการขายแพ็คเกจเอาใจลูกค้าระดับบน
- 3BB ดึงฐานลูกค้าเดิมของทรูในเมืองหลวงและทีโอทีในต่างจังหวัดให้ย้ายมาที่ตนมากมาย พร้อมทั้งแย่งส่วนแบ่งลูกค้าใหม่มาอีกมหาศาล เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพปี 2552 ถ้าไม่มี 3BB เข้ามาทำตลาดคาดว่าทรูจะได้ลูกค้าใหม่ราวๆ 1 แสนรายซึ่งปัจจุบันได้เพียง 50,000 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 50,000 รายตกไปเป็นของ 3BB
- ทีโอทีก็ลงมาร่วมสนามต่อสู้ด้วย ไม่เว้นแม้แต่ CAT เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่ารายได้จากอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ได้กลายเป็นรายได้หลักในปัจจุบันไปแล้ว แม้ว่ารายได้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันของทีโอทีกับ CAT จะยังอยู่ในส่วนของค่าสัมปทานเป็นหลัก แต่ต่อไปรายได้จากสัมปทานอาจจะลดลงหรือหายไป ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อรายได้ในอนาคตจึงต้องรุกตลาดอินเทอร์เน็ตเพื่อหวังเป็นทางรอดของตัวเองในอนาคต
- ปี 2552 รายได้ต่อหมายเลขของแต่ละบริษัทก็น่าจะสูงขึ้น จากที่ปีนี้ตลาดบนบูมมาก แพ็คเกจระดับ 1,000 บาทขึ้นไปขายดี สามารถสร้างมูลค่าต่อพอร์ตได้มากขึ้น (Value per port)
- 3BB เน้นใช้เน็ตไม่ต้องใช้เบอร์ เป็นการลบจุดอ่อนของตัวเองที่ไม่มีสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในเขตกรุงเทพ และตามต่างจังหวัดเดี๋ยวนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เบอร์โทรศัพท์อีกต่อไปแล้ว จึงไม่ต้องมีภาระผูกพันกับ TT&T
คาดการณ์ส่วนแบ่งทางการตลาดในปี 2552
แม้ว่าปีนี้จะยังไม่มีรายงานสรุปออกมาอย่างเป็นทางการสำหรับ ส่วนแบ่งทางการตลาดของบอร์ดแบนด์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย แต่จากข้อมูลที่ได้รับสามารถนำมาวิเคราะห์และคาดคะเนได้แล้วว่า
ส่วนแบ่งทางการตลาด
อันดับ 1 จะยังคงเป็นทรู ที่ฐานลูกค้าประมาณ 700,000 ราย* (ถึงสิ้นไตรมาส 4)
อันดับ 2 จะเป็นของ 3BB ที่ฐานลูกค้าประมาณ 650,000 ราย** (ถึงสิ้นไตรมาส 4)
ที่น่า่ตกใจคือฐานลูกค้าของ 3BB เพิ่มขึ้นมามากมายมหาศาลในปี 2552 และมีอัตราการเพิ่มขึ้นในแต่ละไตรมาสสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2551 ที่มีลูกค้าเพียง 369,000 รายเพิ่มขึ้นมาเป็น 650,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 281,000 รายภายในระยะเวลาแค่ 1 ปี หรือคิดเป็น 43% ในขณะที่ทรูมีอัตราการเพิ่มในปีนี้ลดลงคือประมาณ 10% เท่านั้น
* ข้อมูล อ้างอิง8 ** คำนวนจากฐานลูกค้าล่าสุดไตรมาสที่ 1 ปี 2552 [อ้างอิง6] และอัตราการเพิ่มของลูกค้าใหม่ในแต่ละเดือน [อ้างอิง8] พร้อมทั้งอัตราเฉลี่ยการเพิ่มของลูกค้าใหม่ในแต่ละปี
อนาคตบอร์ดแบนด์อินเทอร์เน็ตในปีหน้า 2553
การมาของ 3BB จึงน่าจับตามองอย่างยิ่งยวด ถ้าอัตราการเติบโตยังเป็นแบบนี้ ปี 53 เราอาจจะเห็น 3BB ขึ้นแท่นเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ของประเทศไทยในช่วงไตรมาส 3 ปี 2553 ตามที่กลุ่ม Jasmin ตั้งเป้าหมายเอาไว้แน่ๆ แต่ทรูในฐานะเจ้าของแชป์ก็คงไม่ปล่อยให้ตำแหน่งหลุดมือไปง่ายๆ อีกทั้งทรูมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน เราคงจะเห็นการต่อสู้ยกใหม่อย่างสมน้ำสมเนื้อระหว่างทรูและ 3BB ในปีหน้า
ข้อมูลอ้างอิง
------------------------------------------------------------------------------------------
------------------------------------------------------------------------------------------
------------------------------------------------------------------------------------------
------------------------------------------------------------------------------------------
ก็คงเหมือนที่หลายคนบอกคือ
จุดอ่อนของทรู
1. ตลาดหลักมีแค่ในกรุงเทพ ส่วนต่างจังหวัดมีแค่จังหวัดใหญ่ 4-5 จังหวัดเท่านั้น
2. ตลาดกรุงเทพเติบโตแบบปกติ แต่ยังต้องมาแย่งส่วนแบ่งกับ 3BB อีก
3. อัตราการสร้างโครงข่ายใหม่ๆ มีน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
จุดแข็งของทรู
1. ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีความพร้อมที่จะให้บริการ
2. ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่มีมากกว่า พร้อมทั้งในส่วนของบริการหลังการขายและการจัดการลูกค้า
สำหรับทรูคิดว่ามีความพร้อมในหลายๆ ด้านยกเว้นการขยายตลาดใหม่และพื้นที่ให้บริการที่มีจำกัด และขยายโครงข่ายใหม่ๆ น้อย เพราะทรูฝากความหวังไว้กับเทคโนโลยีใหม่แทนที่จะเร่งลงทุนระบบสาย
จุดอ่อนของ 3BB
1. ระบบเครือข่ายที่จะมารองรับยังไม่เพียงพอ
2. ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง Service Management รวมทั้งการให้บริการและประสานงานกับลูกค้า
จุดแข็งของ 3BB
1. สามารถให้บริการได้ครอบคุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ
2. ใช้งบทางด้านการตลาดสูงมาก
แต่คิดว่าส่วนนึงน่าจะเป็นเพราะการขยายตัวของลูกค้าที่สูงมากจนบริหารจัดการไม่ทัน พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงภายในบริษัทเอง หลายๆ อย่างจึงยังไม่ลงตัว
แต่ละบริษัททั้งทรูและ 3BB ก็ตั้งเป้าหมายว่าจะหาลูกค้าให้ได้ครบ 1 ล้านพอร์ตภายในปี 2553 สำหรับทรู ทรูคงรอ Wi-Max ที่มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะกทช. จะออกไลเซนต์หลังจาก 3G ซึ่ง Wi-Max เป็นสิ่งเดียวที่จำให้ทรูไปถึงฝั่งฝันเพราะ Wi-Max จะช่วยให้ทรูขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นอีกมาก โดยไม่ต้องใช้สายหรือวางโครงข่ายสายใหม่ ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับว่ากทช. จะออกไลเซนต์แบบภูมิภาคหรือระดับประเทศให้ แต่ก็เป็นความหวังเดียวจริงๆ เพราะถ้าพึ่งระบบสายของทรูอย่างเดียวในปัจจุบัน คงเป็นไปได้ยาก กว่าจะถึงล้านพอร์ตดีไม่ดีทรูอาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ถ้าอัตราการเพิ่มของลูกค้าใหม่มีเฉลี่ยแค่ปีละ 10-12% เช่นในปัจจุบัน
สำหรับ 3BB ไม่ต้องรอหรือฝากความไว้กับอนาคตของ Wi-Max ที่ยังไม่แน่นอน เพราะในปัจจุบันเน้นลงทุนระบบสายทั่วประเทศ และด้วยการเติบโตแบบในปัจจุบัน ที่ขยายฐานลูกค้าด้วยโครงข่ายที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ก็น่ากลัวซะเหลือเกินสำหรับทรูในปีหน้า การรอ Wi-Max อาจมีความเสี่ยง และถึงได้ไลเซนต์จริงกว่าจะเปิดให้บริการได้เร็วสุดก็อาจจะเลยไปถึงกลางปี 53 ดังนั้นก็เหลือเวลาทำตลาดได้อีกเพียงครึ่งปี ดังนั้นปี 53 ทรูอาจจะไม่แข่งด้วยจำนวนแต่แข่งด้วยคุณภาพ โดยเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มต่อพอร์ตให้มากขึ้น
ธุรกิจในกลุ่มออนไลน์ของทรู ซึ่งรวมทั้งไฮสปีดอินเทอร์เน็ตและพวกโทรศัพท์บ้าน PCT เข้าไปด้วย ยังเป็นธุรกิจหลักที่ทำเงินให้กลุ่มทรูอยู่ ปี 2551 สามารถสร้างรายได้ให้ทรูถึง 55% ของรายได้รวม [อ้างอิง]
ทีโอทียังไม่ได้ทิ้ง เจอข้อมูลเหมือนกันแต่ดูแล้วไม่น่าเชื่อถือ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลอื่นๆ
Quote:
นาย วรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า ปัจจุบันลูกค้าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของทีโอทีมีอยู่ประมาณ 820,000 ราย แต่ตั้งเป้าจะเพิ่มให้ถึง 1 ล้านรายภายในปีนี้ - [อ้างอิง] |
สิงหาคมปีนี้ทีโอทีบอกว่ามีลูกค้าราว 820,000 รายแล้ว และตั้งเป้าให้ได้ 1 ล้านพอร์ตภายในปีนี้ (2552) ในขณะที่คู่แข่งต่างตั้งเป้า ที่ปี 53 กัน ดูเผินๆ ก็น่าเชื่อถือเพราะผจก. ใหญ่พูดเองและเราก็อาจจะคิดได้ว่าทีโอทีมีโครงข่ายทั่วประเทศ ก็น่าจะมีลูกค้ามากที่สุดอยู่แล้ว
แต่ทีโอทีกับ CAT ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เลยไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนและละเอียดแก่สาธารณะชนถึงผลการดำเนินงานเหมือนบริษัทเอกชน ลองไปดูข้อมูลจากหน่่วยงานของรัฐเองเช่นสำนักงานกรรมการนโนบายรัฐวิสาหกิจ (สคร) ของกระทรวงการคลัง [อ้างอิง] ก็พบว่าทีโอทีมีเป้าหมายว่าจะมีฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ตประมาณ 610,000 รายในปี 2551 โดยมีเป้าหมายว่าจะเพิ่มลูกค้าให้ได้ถึง 400,000 รายแต่ปรากฎว่าผลการดำเนินงานจริงในปี 51 ทีโอทีมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเพียง 251,939 ราย คิดเป็น 63% ของเป้าหมาย จากข้อมูลนี้ ก็พอจะคาดคะเนได้ว่า การที่ทีโอทีตั้งเป้าหมายปี 51 ไว้ที่ 610,000 ราย เพราะคิดว่าจะเพิ่มลูกค้าให้ได้อีก 400,000 รายก็แสดงว่าปี 2550 ทีโอทีน่าจะมีลูกค้าอินเทอรืเน็ตรวมประมาณ 210,000 ราย (610,000-400,000) แต่เนื่องจากปี 51 ได้ลูกค้าไม่ตามเป้า โดยได้มาแค่ 251,939 ราย ดังนั้นลูกค้าอินเทอร์เน็ตรวมของทีโอทีจึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 461,939 ราย (อาจน้อยกว่านี้อีก) ซึ่งได้มากกว่า Maxnet ปี 51 เกือบ 1 แสนราย
[อ้างอิง]
ทั้งๆ ที่ข้อมูลจาก กทช. ระบุว่า Maxnet และ 3BB มีส่วนแบ่งลูกค้าพอๆ กันที่ประมาณ 27%
[อ้างอิง]
ดังนั้นลูกค้าจริงๆ ของทีโอทีในปี 51 จึงน่าจะอยู่ราวๆ +-400,000 ราย โดยอ้างอิงข้อมูลจากกทช ที่มีส่วนแบ่งพอๆ กับ 3BB แล้วเอาไปเทียบกับจำนวนลูกค้าของ 3BB ตอนสิ้นปี 51
ถ้าปัจจุบันช่วงปลายปีทีโอทีมีลูกค้าถึง 800,000 ราย ก็แสดงว่า ปีนี้ทีโอทีต้องเติบโตถึง 100% แล้วมันจะเป็นไปได้เหรอ 3BB ที่ว่าแน่ยังแค่ 35-40%
หรือถ้าตามข่าว เขาก็ยังบอกว่าปี 2551 มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นถึง 400,000 พอร์ต ทั้งๆ ที่ในรายงานประเมินผลงานของกระทรวงการคลังระบุไว้ชัดเจนว่าปี 51 ทีโอทีมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 251,939 รายจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 400,000 ราย แล้วแบบนี้ตัวเลขปิดยอดขาย 7 แสนพอร์ตจะต้องเอาไปลบออกสักเท่าไหร่ดี
Quote:
ทีโอทีตั้งเป้าบรอดแบนด์ปีนี้ที่ 1 ล้านพอร์ต ยอมรับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลยอดขายเติบโตต่ำกว่าปี 51 ที่โต 2 เท่าตัวปิดยอดขายที่ 7 แสนพอร์ต คาดการแข่งขันปีนี้ดุเดือนด้านโปรโมชันและแอปพิเคชันเสริม แต่ไม่ใช่การหั่นราคาแย่งลูกค้า เพราะปัจจุบันราคาต่ำอยู่แล้ว นายสุจินต์ กดทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในปี2551ทีโอทีมียอดผู้ใช้บรอดแบนด์ 7 แสนพอร์ต เติบโตจาก2550ที่มียอดผู้ใช้เพียง 3 แสนพอร์ตถึง 2 เท่าตัว สาเหตุที่มีการเติบโตเนื่องจากตลาดมีความต้องการใช้งานทั่วไปเพิ่มขึ้น และปริมาณความเร็วสำหรับใช้งานเพิ่มสูงขึ้น สำหรับในปีนี้ จากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวคาดว่าแนวโน้ม จะส่งผลกระทบต่อยอดขายบรอดแบนด์ ของทีโอที โดยคาดว่ามีจำนวนลูกค้าเพิ่มเป็น 1 ล้านพอร์ต มีผู้เข้าใช้ใหม่ 3 แสนพอร์ต แต่ในปี 2551 มีผู้เข้าใช้งานใหม่ทั้งสิ้น 4 แสนพอร์ต - อ้างอิง |
ก็เลยสงสัยในข้อมูลของทีโอทีเวลาออกสื่อ ตัวเลขต่างๆ ที่เราเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์อาจจะต้องหาร 1.5 คิดว่าตัวเลขที่ผู้บริหารออกมาพูดน่าจะเป็นตัวเลขของ เป้าหมาย ที่คาดว่าจะได้ ไม่ใช่ตัวเลขจริง
ตกลงตัวเลขจากทีโอทีจะเชื่อถือได้หรือเปล่า??
ส่วนตัวเลข 1,000,000 พอร์ตของทีโอทีเขาตั้งเป้ามาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว [อ้างอิง] แต่ยังทำไม่ได้สักทีก็เลยกลายเป็นว่าทุกๆ ปีจะต้องตั้งเป้าไว้ก่อน 1 ล้านพอร์ต ตั้งแต่ปี 2551 2552 เป็นต้นมา ปีนี้ก็ตั้งแต่ไม่รู้จะถึงหรือเปล่า ในขณะที่พวกบริษัทเอกชนเขาตั้งเป้าโดยคำนวนจากข้อมูลและความน่าจะเป็น ซึ่งก็คือปีหน้า 2553 ดูอย่างทรูปีนี้ได้ลูกค้าใหม่แค่ 1 แสนรายเขาก็บอกแค่นั้น [อ้างอิง] ไม่ได้โม้ไปเรื่อยเหมือนทีโอที ลูกค้าจริงๆ ของทีโอทีในปีนี้น่าจะอยู่ที่ราวๆ +-600,000 ราย
งานนี้ถ้าพนักงานทีโอทีที่มาให้สัมภาษณ์สื่อไม่โกหก ก็กลายเป็นว่า กทช. กับ กระทรวงการคลัง โกหกแทน
รายได้หลักของทีโอทีกับ CAT ในปัจจุบันมาจากค่าสัมปทานต่างๆ ของ CAT นี่หลักๆ เลยคือสัมปทานมากกว่าครึ่ง
* ข้อมูลปี 50 แต่ปีล่าสุด 51 CAT มีรายได้จากโทรต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจนมาอยู่อันดับ 2 ของรายได้รวมรองจากสัมปทาน
ส่วนทีโอทีได้ค่าสัมปทานประมาณ 1 ใน 3
และด้วยความไม่แน่นอนของสัมปทาน ทั้งคู่ก็เลยบุกตลาดบอร์ดแบนด์โดยทำเป็นแผนที่ต้องทำเร่งด่วนทั้ง CAT และทีโอที
เครดิต adslthailand.com (โดย BroadbandGirl)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น