Pakorn's Blog

Helping you to bring your concepts and ideas to life.

TOT 3G กับผลประโยชน์การเมืองที่ไม่ลงตัว


       ทีโอที กำลังกลายเป็นเหยื่อการเมืองครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้ เพราะมากจนนับไม่ไหว ในการเข้ามาแสวงผลประโยชน์ของการเมือง ด้วยการใช้รูปแบบสงครามตัวแทนผ่านกรรมการบอร์ด ทำมาหากินจากงานประมูลต่างๆ ทั้งโครงการขนาดใหญ่และเล็ก ที่ทุกวันนี้แทบจะรู้ล่วงหน้าว่าใครจะชนะประมูล เพราะฮั้วกันนอกรอบเรียบร้อย
     
       ถ้าได้บริษัทดีมีจิตสำนึก ก็จะทำงานเสร็จเรียบร้อยส่งมอบทันเวลา แต่ถ้าได้บริษัทชั้นเลว ดีแต่เสนอตัวเลขสูงๆให้การเมือง พอได้งานก็มักจะพบว่างานไม่เสร็จ หรือตัดเนื้องาน หรือส่งมอบอุปกรณ์ไม่ตรงตามสเปก อาศัยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ตรวจรับโครงการ บางทีซื้อมาใช้ไม่ได้ หรือไม่ได้ใช้ ท้ายสุดทำให้องค์กรเสียหายมานักต่อนัก
     
       สำหรับ โครงการ 3G ของทีโอที ที่กำลังจะเปิดบริการในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ด้วยคอนเซ็ปต์การตลาดแบบใหม่อย่างการให้เอกชนมาเช่าโครงข่ายแล้วทำตลาดหรือ Mobile Virtual Network Operator (MVNO) กำลังเป็นที่จับตามองของตลาดมากว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
     
       ในมุมมองของ MVNO ทั้ง 5 รายไม่ว่าจะเป็นสามารถ ไอ-โมบาย, ล็อกซเล่ย์, 365, เอ็ม คอนซัลต์ และไออีซี ต่างเห็นว่าแค่จำนวน 2-3 หมื่นเลขหมายในช่วงแรกไม่น่าจะพอทำตลาด เพราะ MVNO ทั้ง 5 รายเปรียบเหมือนแม่ทัพการตลาด 5 คนช่วยกันขายช่วยกันทำตลาด แต่ละรายมีจุดแข็งที่ต่างกัน น่าจะเป็นประโยชน์กับทีโอทีอย่างมาก ซึ่งทีโอทีควรมีแผนขยายเน็ตเวิร์กให้ทั่วประเทศและขยายความสามารถรองรับของ ระบบ(Capacity) ในลักษณะที่เติบโตไปด้วยกัน
     
       แต่กลายเป็นว่าทีโอที ซึ่งพูดได้เต็มปากว่าเป็นรัฐวิสาหกิจของไทยกำลังถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิชย์ รมว.คลังประสานเสียงเตะสกัดแผนขยายโครงข่าย 3G ทั่วประเทศของทีโอที
     
       โดยนายอภิสิทธิ์ต้องการให้ทีโอทีชะลอการลงทุนโครงการ 3G ทั่วประเทศของทีโอทีไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนในการประมูลใบอนุญาต 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
     
       ในขณะที่นายกรณ์ต้องการให้มีการแปรสัญญาสัมปทานของบริษัทเอกชนก่อน ที่กทช.จะประมูลใบอนุญาต 3G เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และเห็นว่าหากไม่มีการแปรสัญญาสัมปทานแล้วกทช.ประมูลใบอนุญาต 3G จะทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท
     
       นัยครั้งนี้เหมือนประสานเสียงถามว่าไก่กับไข่ใครเกิดก่อนกัน ซึ่งแน่นอนว่าสุดท้ายแล้วไม่มีคำตอบ
     
       เพราะประการแรกกทช.แจ้งให้ทราบแล้วว่าการขยายโครงข่าย 3G ทีโอทีไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลใบอนุญาต 3G ของกทช. ประการที่สองการแปรสัญญาจำเป็นต้องให้คู่สัญญาด้านเอกชนเห็นชอบด้วย รัฐไม่สามารถทุบโต๊ะตามใจชอบได้ เพราะไม่เช่นนั้นการแปรสัญญาน่าจะเสร็จเรียบร้อยมานานแล้ว
     
       แม้กระทั่งเอกชนคู่สัญญาอย่างเอไอสกับดีแทค ยังเห็นว่าการแปรสัญญากับการประมูลใบอนุญาต 3G เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ควรนำมาผูกกัน โดยเอไอเอสเสนอแนวทางแปรสัญญาที่สนใจคือการเปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นทุน เสนอให้ทีโอทีเข้ามาถือหุ้นได้สูงสุดถึง 30% เพียงแต่เอไอเอสต้องประมูลได้ใบอนุญาต 3G จากกทช.ก่อน รวมทั้งทรูมูฟก็ยังเห็นว่าการแปรสัญญาสามารถทำคู่ไปกับการประมูล 3G ได้
     
       “การ แปรสัญญาสัมปทานกับการประมูลใบอนุญาต 3G เป็นคนละเรื่องกัน การที่รัฐบาลพยายามจะให้มีการแปรสัญญาให้แล้วเสร็จก่อนมีการประมูลใบอนุญาต 3G นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากการแปรสัญญาไม่สามารถทำได้เพราะที่ ผ่านมามีความพยายามทำเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปีแล้วหากรัฐต้องการผลักดันจริงๆควรดำเนินการเรื่องการแปรสัญญากับการออกใบ อนุญาตใหม่ควบคู่กันจะดีกว่า” นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอสกล่าว
     
       “การแก้สัญญาสัมปทานมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะ เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมาเป็นระยะเวลานานมากแล้วเป็น 10 ปี ดังนั้นการแปรสัญญาภายในระยะเวลาอันสั้น หรือภายในระยะเวลาที่สัญญาสัมปทานยังเหลืออยู่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้นรัฐบาลควรแยกเรื่องสัญญาสัมปทานออกเป็น 2 เรื่อง จากการประมูลใบอนุญาต 3G เพราะทั้ง 2 เรื่องไม่ใช่เรื่องเดียวกัน” ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทคกล่าว
     
       “ต้อง การให้ภาครัฐเร่งการแปรสัญญาควบคู่ไปกับการประมูลใบอนุญาต3G ไม่ใช่รอให้มีการแปรสัญญาให้เสร็จก่อนซึ่งการแปรสัญญาภายใต้กฎหมายประกอบการ กิจการโทรคมนาคม คู่สัญญาสัมปทานสามารถเจรจาและตกลงยินยอมที่จะยกเลิกสัญญาสัมปทานได้ โดยการแปรสัญญาอาจจะใช้รูปแบบเปิดให้เอกชนเช่าใช้โครงข่ายเดิมด้วยต้นทุนที่ เหมาะสม หรือเปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นทุน หรือการแปรทรัพย์สินเป็นเงิน แต่ควรจะเปิดโอกาสให้เอกชนผ่อนจ่ายแทนการเรียกเก็บเพียงครั้งเดียว ซึ่งรูปแบบจะเป็นการทำสัญญาฉบับใหม่ หรืออาจจะเป็นการเช่าโครงข่ายแทนและผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่าย ให้แก่ผู้ให้สัมปทานก็ได้” ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าว
     
       ความต้องการของนายกฯและรมว.คลังในเรื่องนี้ คือ การยื้อเรื่องซื้อเวลาไปมา พายเรือวนในอ่าง
     
       ว่ากันว่าการที่ทีโอทีเป็นเหยื่อการเมืองครั้งนี้ เป็นเพราะมีกระบวนการตกลงเกี้ยเซี๊ยะไปเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นคนละขั้วกับนายอภิสิทธิ์กับนายกรณ์ รวมทั้งยังมีบางส่วนตกไปยังนายพ.ผู้ยิ่งใหญ่ตัวจริงเพื่อแผ่นดิน ทำให้นายกฯไม่พอใจอย่างมาก
     
       ประกอบกับตัวแทนทุนการเมืองที่ดูแลสภาพัฒน์ฯ มีแนวโน้มที่จะเตะสกัดแผนธุรกิจของทีโอทีให้ล่าช้าออกไป หลังรมว.คลังมาตั้งข้อสังเกตว่าทีโอทีจะลงทุนโครงข่าย 2 หมื่นล้านแต่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจแบบขายส่งหรือขายปลีก เพราะทุนการเมืองเชื่อว่ายิ่งทีโอทีวางโครงข่าย 3G ทั่วประเทศล่าช้าจะเป็นประโยชน์กับบริษัทตัวเองเนื่องจากยังไม่มีใบอนุญาต 3G เหตุผลทั้ง 2 ส่วนถูกโยงมารวมกันทำให้เชื่อว่า หากรัฐบาลชุดนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทีโอทีก็ไม่น่าจะมีโอกาสขยายโครงข่าย 3G ทั่วประเทศได้
     
       เพราะไม่ใช่เหตุผลทางธุรกิจ ที่ทีโอที ไม่มีปัญญาทำตลาดบริการ 3G ของตัวเองได้ แต่เป็นเพราะการเมืองจะทำให้ 3G ทีโอที เฉาตายซ้ำอดีตไทยโมบายมัดตราสังวันนี้ก่อนที่จะเผาวันหน้า

ข้อมูลและภาพประกอบจาก Manager Online

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Related Posts with Thumbnails